เป็นยังไงไปอ่านกันคร้าบบบ
1. เลือกยี่ห้อรถยนต์ รถยนต์บางยี่ห้อไม่อยู่ในความต้องการของตลาด หากซื้อไปแล้ว ต้องการขายหรือเปลี่ยนคันใหม่ ราคาที่ได้รับจะตกอย่างรวดเร็วมาก ในขณะที่บางยี่ห้อเป็นยี่ห้อฮิตอยู่ในความต้องการ แม้ว่าใช้ไปหลายปีแล้ว ราคาก็ตกไม่แรงมากนัก และยังอยู่ในความต้องการของตลาดอยู่เสมอ
2. เลือกเครื่องยนต์ ขนาดซีซี ข้อนี้เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน และภาษี ซึ่งกระทบค่าใช้จ่ายของคุณ หากเลือกรถยนต์ที่ซีซีสูง ปริมาณการใช้น้ำมันก็จะมาก เสียภาษีมาก และถ้าราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มภาระใช้จ่ายด้วย ในขณะที่ปัจจุบันมีรถยนต์พลังงานทางเลือกออกมาหลายแบบทดแทนการใช้เบนซิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดีเซล พลังงานไฟฟ้าไฮบริด หรือใช้ก๊าซ รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีการติดตั้งก๊าซจากโรงงานตั้งแต่ต้น ก็จะมีดีไซน์และการใช้งานที่ลงตัวกว่าไปติดตั้งเองภายหลัง
3. เลือกฟังก์ชั่นการใช้รถยนต์ให้เหมาะกับเรา เหมือนกับการวางแผนซื้อสินค้าทุกชนิดที่ต้องถามความต้องการของเราก่อนว่า ต้องการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบ้าง เช่น คุณต้องการรถยนต์เพื่อใช้ในเมือง หรือขับต่างจังหวัด มีคนนั่งกี่คน ขับคนเดียวหรือรถครอบครัว ถ้าขับคนเดียวในเมืองอีโคคาร์น่าจะเป็นคำตอบที่ช่วยให้คุณประหยัดเงินในกระเป๋า
4. เลือกออปชั่น บางออปชั่นต้องเสียเงินเพิ่ม ไม่ได้จำเป็นกับเรา เช่น ติดสปอยเลอร์ แต่เราไม่ได้ขับรถเร็ว ก็ไม่ควรซื้อ และควรต่อรองตัดออก เพื่อที่จะได้ส่วนลดเพิ่มเติม
5. เลือกสี บางท่านเชื่อถือโชคลาง ก็ควรดูก่อนเลยว่า ถูกโฉลกกับสีใด จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์มาแปะ ว่ารถคันนี้สี..... และถ้าต้องวิ่งกลางคืน ดึก ๆ เป็นประจำ ควรเลือกรถสีสว่าง เพื่อป้องกันและช่วยลดอุบัติเหตุ
6. เลือกทะเบียน ทะเบียนเลขสวย หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และการเลือกจดทะเบียนในกรุงเทพกับต่างจังหวัด ก็มีผลต่อราคาตอนขายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เวลาในการจดทะเบียนก็สำคัญว่า เป็นรถปีไหนหากซื้อรถยนต์ช่วงปลายปี การรอจดทะเบียนช่วงปีใหม่ ก็จะดีกว่าเลือกจดทะเบียนในปีเดิม ที่เวลาขายจะดูว่าเป็นรถปีเก่ากว่า
7. เลือกดีลเลอร์ที่สะดวก บริการหลังการขาย และค่าซ่อม เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญที่จะตามมา รถยนต์บางยี่ห้อก่อนการขายบริการดี หรือการซื้อรถเกรย์มาร์เก็ตราคาถูก แต่เวลาเสียไม่มีใครรับซ่อมหรือบางยี่ห้ออะไหล่แพง ก็อาจจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าในระยะยาว
8. เลือกจะซื้อด้วยเงินสดหรือเงินผ่อน เพื่อตอบคำถามนี้ คงต้องหันกลับมาดูกระเป๋าสตางค์ของตัวเองก่อนว่า ปัจจุบันเรามีทุนรอนเท่าไร เพียงพอจะซื้อเป็นเงินสดหรือไม่ หรือหากตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเก็บเงินรายเดือนเพื่อซื้อรถยนต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็ต้องมาดูความสามารถในการออมของเราว่าจะสามารถออมให้บรรลุเป้าหมายได้หรือไม่
ในทางตรงกันข้าม หากซื้อด้วยเงินผ่อน อาจมีหลายประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องจำนวนเงินดาวน์เป็นเท่าไรและจะขอวงเงินสินเชื่อรถยนต์กับทางสถาบันการเงินเท่าไร ผ่อนกี่เดือนนานแค่ไหน ส่วนการจะขอสินเชื่อผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลเครดิตที่ผ่านมาของแต่ละคนว่ามีประวัติการชำระหนี้เป็นอย่างไร ภาระการผ่อนชำระหนี้ของตัวเราเองก็ไม่ควรเกินความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรมีภาระผ่อนชำระมากกว่า 40% ของรายได้ และที่สำคัญ คือ ปกติแล้วอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์คิดแบบอัตราคงที่ (flat rate) ต่างกับสินเชื่อบ้านที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ราคา 700,000 บาท วางเงินดาวน์ 20% (140,000 บาท) ขอสินเชื่อ560,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ผ่อนชำระเป็นเวลา 4 ปี ยอดดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 67,200 บาท(560,000 บาท x 3% x 4 ปี) ต้องผ่อน 13,067 บาทต่อเดือน (เงินต้นบวกดอกเบี้ยเท่ากับ 627,200บาท หาร 48 เดือน) ซึ่งหากคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี อาจสูงถึง 5 - 6% เลยทีเดียว นอกจากนี้ ต้องตระหนักไว้เสมอว่า ภาระผ่อนค่างวดรถยนต์ไม่ได้อยู่กับเราเพียงชั่วครู่ชั่วคราวหรือแค่เดือนสองเดือนแล้วจบไป แต่จะอยู่กับเรานานเท่ากับระยะเวลาผ่อนชำระที่ได้ตกลงไว้ ณ วันทำสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งก็มีตั้งแต่ 1 ปีไปจนถึง 5 ปี ดังนั้น นอกจากดูว่าวันนี้เราผ่อนไหวแล้ว ต้องมองต่อไปอีกด้วยว่าเราจะยังคงผ่อนไหวไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เราควรนำมาไตร่ตรองเสียตั้งแต่วันที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ อย่าให้เพียงความต้องการมาบดบังความจำเป็นและความสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นแล้วรถยนต์ที่สามารถทำหน้าที่ขนย้ายสัมภาระอาจกลับกลายมาเป็นภาระของเราในวันข้างหน้าก็เป็นได้
ขอบคุณ
ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น